เงินเดือน 15,000 บาท เก็บลงทุนอย่างไรให้รวยระเบิด
เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Panphol.com
เงินเดือนของคุณตอนนี้เท่าไหร่ ?
คุณเก็บเงินในแต่ละเดือนกี่เปอร์เซ็นต์ ไว้ใช้จ่ายกี่เปอร์เซ็นต์ มีไว้ลงทุนหรือไม่ ?
หากคุณตกงานกะทันหันจะมีเงินไว้ใช้จ่ายหรือไม่ ?
ต้องเก็บเงินเท่าไหร่จึงจะทำให้วัยเกษียณมีเงินเพียงพอกับค่าใช้จ่าย ?
เงินเดือน 15,000 บาท เก็บแบบไหน ทำอย่างไรจึงจะรวย ?
นี่ คือคำถามเบื้องต้นที่มนุษย์เงินเดือนอย่างเราต้องคิดและบริหารการเงินใน กระเป๋าในแต่ละเดือน แต่บางคนอ่านแล้วก็อาจฉุกคิดในใจว่า ทุกวันนี้ใช้หนี้ยังไม่พอเลย แล้วจะเอาที่ไหนมาเก็บ ?
เกี่ยวกับเรื่องนี้เรามีคำแนะนำจาก คุณพรพรหม ภักตร์เปี่ยม ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์หุ้นปันผล Value Investor ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาด้านการออม การลงทุน หุ้น LTF RMF มาฝาก โดยคุณพรพรหมเขียนบทความแนะนำ “เงินเดือน 15,000 บาท เก็บลงทุนไงให้รวยระเบิด” ว่า “มีหนี้ จงใช้หนี้ก่อน หลังจากนั้นอย่าเพิ่งเก็บเงิน ให้บริหารต้นทุนให้ได้ก่อน” ส่วนวิธีการบริหารเงินนั้น ลองไปอ่านบทความเรื่องนี้กัน ซึ่งคุณพรพรหมได้อนุญาตให้กระปุกดอทคอมนำมาเผยแพร่ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์เงินเดือน ที่ต้องการเก็บเงินได้อ่านกัน
ผมเองก็เริ่มจากเงินเดือน 9,000 บาท ช่วงนั้นยังเป็นหนี้อยู่มากเหมือนกัน จำได้เลยว่าสมัยนั้นมีบัตร EASY BUY ที่จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที เพราะไปจัด SONY T1 มา 20,000 เศษ ใช้หนี้อยู่พักใหญ่ จนมีเงินพิเศษจำนวนหนึ่งจึงนำไปชำระทั้งหมด และหักบัตรนั้นทิ้งทันที บอกกับตัวเองว่า “แบบนี้ไม่เอาอีกแล้ว” ฉะนั้น มีหนี้ จงใช้หนี้ก่อน ถ้าหนี้นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่จะสร้างรายได้ในอนาคต จัดการมันซะ และ ควรทำมันพร้อมกับความต้องการที่ฟุ้งเฟ้อ อย่างไม่มีเหตุผล
ผมไม่รู้ว่าท่านมีหนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าท่านมีเงินเดือน 15,000 ต้องบังคับให้ตัวเองใช้หนี้ต่อเดือนคิดเป็น 70% ของรายได้ หรือ 10,500 บาท ต่อเดือน เลข 70% เป็นตัวเลขที่ผมชอบ หากเกินนี้เกรงว่าท่านจะไม่มีกินเอาเท่านี้ล่ะพอแล้ว (หรือใครใจหินจะลองสัก 80% ก็ได้) ส่วน 30% ที่เหลือเชื่อผมท่านอยู่ได้ และผมทำมาแล้ว ในช่วงที่ได้เงินเดือน 15,000 ครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน พอขยับฐานเงินเดือน มันก็มีสิ่งที่อยากได้เหมือนคนอื่นเค้าหลายอย่าง และอันดับต้น ๆ ก็คือ โทรศัพท์มือถือ จึงหันไปพึ่งบริการของบัตรเครดิตตอนนั้นเงินเดือน 15,000 ทำได้พอดีเลย แต่วงเงินที่ได้ประมาณ 30,000 บาท ก็จัดเต็มไป บางยอดเป็นเงินผ่อน แต่บางยอดกดเงินสดมาใช้เพราะอยากป๋าบ้าง อะไรบ้าง มันจะไม่สนุกก็ตอนบิลเรียกเก็บนี่ล่ะเล่นเอาหน้ามืด ผมเลือกที่จะจ่ายขั้นต่ำเพราะยังมีเรื่องที่ใช้จ่ายอีกเยอะแยะ หมุนไปได้หลายเดือนหลอกตัวเองไปสักพัก ก็ได้สติว่าจ่าย 2,000 แต่มันมีดอกเบี้ยเพิ่มมาอีกบานตะไท จึงเลือกตัดค่าใช้จ่าย ปกติ 15,000 ต่อเดือนแทบไม่พอกิน เพราะกินข้าววันละ 2 มือ (เช้ากินกับที่บ้าน) มื้อละ 30 + ค่าเดินทางวันละ 120 โดยประมาณ (บ้านอยู่พระราม 2 ทำงาน บางกะปิ)
สรุปค่าใช้จ่ายพื้นฐาน
ค่าข้าว 60*30 บาท = 1800 บาท
ค่าเดินทางไม่รวมอาทิตย์ 26*120 = 3120 บาท
บวกใช้หนี้ 2,000 บาท
รวม ทั้งหมดแล้วเดือนนึงต้องจ่ายประมาณ 6,920 บาท ก็น่าจะเหลือประมาณ 9000 บาท เอาไว้เหลือออม ใช่มะ แต่จริงแล้วไม่เหลือแฮะ สาเหตุมาจาก
1. เมื่อวงเงินเครดิตเหลือ ก็จะถูกดึงเอามาใช้เนื่องจาก เหตุผล “จำเป็น” ?
2. มีค่าใช้จ่ายแฝงอยู่มาก จนไม่รู้ว่ามันหายไปไหน ซึ่งสรุปให้สั้น ๆ เรียกมันว่า “ค่าใช้จ่ายทางสังคม” ซึ่งค่าใช้จ่ายพวกนี้แหละที่มากกว่า “รายจ่ายประจำ”
ฉะนั้นถ้าจะลดหนี้จงหยุด “ความอยาก” และ รีบใช้หนี้ให้เร็วที่สุด
เหลือแค่เฉพาะอยู่ได้ ส่วนไอ้ที่อยากได้เอาไว้ทีหลัง
-----------------> ขอขีดเส้นใต้ตรงนี้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ไม่ต้องอ่านต่อ <------------------
หากเคลียหนี้ได้แล้ว ท่านจะเหมือนมนุษย์ผู้เอาชนะได้ทุกสิ่ง เพราะท่านชนะตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว ความภูมิใจจะทวีคูณ ไม่ต่างจากการควบคุมอาหาร สิ่งที่จะได้ตามมาคือ วินัยทางการเงินที่เข้มแข็ง ท่านจะรู้จักใช้เงินอย่างรู้คุณค่ามากขึ้น ย้ำว่า "รู้คุณค่ามากขึ้น" แต่ไม่ใช่ตระหนี่ขี้เหนียว
หากท่านเคลียหนี้ได้แล้ว เราจะกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง ปล่อยให้มีค่าใช้จ่ายทางสังคมบ้าง ไม่เช่นนั้นแล้วสุขภาพจิตท่านจะแย่เอาได้เหมือนกัน อย่าบีบคั้นตัวเองมากไป เอาให้พอดี หลังจากนี้ อย่าเพิ่งคิดจะเก็บก่อน "เพราะการเก็บก่อน เป็นวิธีหักดิบที่ทำได้ยาก" ต้องบริหารต้นทุนให้ได้ก่อน โดยแยกค่าใช้จ่ายเป็น 5 เรื่องหลักต่อเดือน ดังนี้
1. เพื่อให้พอดำเนินชีวิตได้ 5,000 บาท คิดเป็น 33.33% ของรายได้
2. เพื่อให้สิ่งที่อยากได้ แต่เป็นประโยชน์ในการสร้างรายได้ในอนาคต 1,000 บาท คิดเป็น 6.6% ของรายได้
3. เพื่อให้สิ่งที่ทำให้อยู่ในสังคมได้ 1,000 บาท คิดเป็น 6.6% ของรายได้
4. เพื่อการศึกษาเรื่องเฉพาะที่จะสร้างเงินได้ในอนาคต 1,000 บาท คิดเป็น 6.6% ของรายได้
5. เพื่อการลงทุน 7,000 บาท คิดเป็น 46.66% ของรายได้
หากได้เงินเพิ่ม ท่านก็เอา % ของแต่ละเรื่องไปคูณเงินเดือน ก็จะได้ตัวเลขที่ต้องจัดสรรในแต่ละเดือน
ข้อ 2 ถึง ข้อ 4 ให้นำเอาไปฝากออมทรัพย์ที่ดอกเบี้ยสูง 3% หรือ กองทุนตราสารหนี้ T+1 ผลตอบแทน 2.8% เพื่อพักเงิน
ข้อ 5 นำไปลงทุนที่ได้ผลตอบแทนดี และ รับความเสี่ยงได้ ไม่แนะนำให้ลง LTF เพราะเงินเดือนประมาณนี้ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีแน่นอน หลังหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายส่วนตัว และ อื่น ๆ แล้ว แนะนำให้ไปลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ณ ทีนี้ขอยกตัวอย่างเป็น BGH ซึ่งมีทิศทางการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่กล้าใจไม่ถึง ให้ลงเรียนหรือหาหนังสือมาอ่าน "ความรู้จะทำให้มั่นใจ"
เมื่อลองคำนวณด้วย DCA ย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าเราออมเงินไปทั้งหมด 252,000 บาท เกิดเป็นผลกำไรทั้งหมด 216,393.69 บาท (+86%) รวมแล้วมีเงินในมือทั้งหมด 468,393.69 บาท
3 ปี นอกจากจะได้เงินเก็บในหุ้น 468,393.69 บาท แล้ว ยังได้เงินจากข้อ 2 และ ข้อ 3 ที่ไม่ได้นำไปใช้(ไม่รวมผลตอบแทนเงินฝาก) อีก 72,000 บาท เงินจำนวนนี้ ซื้อไรดี ^^
แต่เมื่อลองดูย้อนหลัง 5 ปี จะเห็นว่าเราออมเงินไปทั้งหมด 420,000 บาท เกิดผลกำไรทั้งหมด 1,133,300.93 บาท รวมแล้วมีเงินในมือทั้งหมด 1,553,300.93 อุแม้เจ้า
5 ปี นอกจากจะได้เงินเก็บในหุ้น 1,553,300.93 บาท แล้ว ยังได้เงินจากข้อ 2 และ ข้อ 3 ที่ไม่ได้นำไปใช้(ไม่รวมผลตอบแทนเงินฝาก) อีก 120,000 บาท เงินจำนวนนี้ ซื้อไรดี ^^
แน่นอนว่าปัจจุบันผมมีเงิน 1 ล้านบาท แต่เป็นล้านบาท ที่สะสมมาจาก เงินเดือน งานพิเศษ รับเขียนเว็บไซต์ เขียนโปรแกรม ค่าสมาชิกเว็บและจากกำไรหุ้น ช่วงปี 2008 2009 2010 ชีวิตผมเองก็ไม่ได้ โรยด้วยดอกกุหลาบ ปี 2011 ต้องแยกกับภรรยา ทำให้ต้องแบ่งทรัพย์สินและกลับมาเริ่มลงทุนใหม่ในช่วงปี 2012 แต่ก็โชคดีที่ตอนนั้นยังมีหุ้นหลายตัว Under Value อยู่มาก ทำให้กลับมาได้ในปี 2013 ขอขอบพระคุณ คุณพ่อ คุณแม่ และ คุณลูก ที่ให้กำลังใจมาตลอด
ผมเชื่อว่าหากท่านตั้งใจจริงก็ทำได้ เจอกันที่ความสำเร็จในปี 2015 เมื่อ AEC พร้อม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น